Hot Topic!
สินบนการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ใครจะแก้ได้?
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
สินบนที่ถูกเรียกให้จ่ายแลกกับการออกใบอนุญาตก่อสร้าง มีกันมาตั้งแต่มีกฎหมายการควบคุมดูแลการก่อสร้างในเขตเทศบาล เพื่อดูแลความปลอดภัยและความแข็งแรงของอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัย และคนทั่วไปจำนวนมากที่จะต้องเข้าไปใช้อาคารสาธารณะต่างๆ
ตลอด 40 ปี ของความพยายามเพื่อ แก้ปัญหา ทุจริตการเรียกเงินค่าออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารใน กทม. มีบางช่วงที่ป้องกันได้ดีขึ้น หากผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพมหานครเอาจริงเอาจัง ในปัญหานี้
ขอยกตัวอย่างสมัย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเลือกตั้งอย่างท่วมท้น เมื่อปี 2528 พลตรีจำลองเชิญผมไปปรึกษาในฐานะอาจารย์รุ่นใหม่จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อไปสอบถามสถานการณ์การทุจริตเรียกเงินการขอใบอนุญาตการก่อสร้าง
หลังจากที่ผมได้เล่าความเป็นจริงในขณะนั้นให้ฟัง พลตรีจำลองถึงกับออกปากอุทานออกมาว่า "ถ้ามีกฎหมายควบคุมอาคาร แล้วใช้ควบคุมจริงไม่ได้ กลายเป็นแค่เครื่องมือให้ข้าราชการหาเงินแบบนี้ ยกเลิกกฎหมายนี้เสียเลยได้ไหม?"
ผมเลยต้องรีบขอไว้ว่า กฎหมายควบคุมอาคารของไทยเรานี้ ถึงแม้จะสร้างปัญหาสินบนจริง แต่อย่างไรก็มีประโยชน์มากต่อความปลอดภัยของสาธารณชน การยกเลิกกฎหมายทั้งหมดจะไปสร้างปัญหาใหญ่อื่นๆ อีก ส่วนในเรื่องการทำความเดือดร้อนกับชาวบ้านเรียกร้องเงินทอง ก็ต้องอาศัยผู้ว่าฯและคณะที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาดูแลข้าราชการมิให้ไปเรียกร้องเงินทอง
ในยุค ผู้ว่าฯจำลอง ผู้ว่าฯกฤษฎา และผู้ว่าฯพิจิตต สถานการณ์การเรียกรับสินบนใบขออนุญาตก่อสร้างนี้ดีขึ้นมาก แบบที่ออกแบบมาผิดกฎหมาย จะไม่มีทางผ่าน กทม. ได้ รู้กันว่าผู้บริหาร กทม. ในยุคดังกล่าว มีการเรียกรับสินบนน้อยกว่าสมัยนี้มาก
มาถึงปัจจุบัน เรื่องนี้กลับมาลุกลามขยายตัว เพิ่มอัตราเรียกรับเงินขึ้น จนเกิดเป็นเรื่องใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการก่อสร้างอาคารสูงที่ละเมิดกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง ทำให้เกิดอันตรายต่อโรงเรียนและเด็กนักเรียนที่อยู่รอบๆ บริเวณการก่อสร้าง จนผู้ว่าฯ คนปัจจุบันต้องออกมากำกับการเอง
เรื่องนี้ในรายละเอียด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้นำตัวเลขอัตราการเรียกเงินใบอนุญาตต่างๆ ออกมาเผยแพร่ โดยคร่าวๆ ดร.มานะสรุปว่า "...หาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการแล้วเท่ากับว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะต้องเสียเงินใต้โต๊ะ 1-3% ของงบประมาณก่อสร้าง ขณะที่โครงการขนาดเล็ก ต้องเสีย 5-7% ของงบประมาณก่อสร้าง ส่วนโครงการที่ต้องการก่อสร้างแต่มีปัญหาบางอย่างที่ไม่ถูกกฎหมาย จะถูกเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะสูงถึง 10% ของงบประมาณก่อสร้าง
แม้แต่การก่อสร้างบ้านของตัวเอง คนส่วนใหญ่ ก็ยังต้องจ่ายใต้โต๊ะประมาณ 1-3 หมื่นบาท โดยเจ้าของบ้านอาจจ่ายด้วยตนเองหรือจ่ายผ่านสถาปนิกผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงงาน อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ราคาจะสูงกว่านี้มากตามแต่กรณีและพื้นที่..." ซึ่งท่าน ผู้อ่านสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก manager online ที่ https://mgronline.com/specialscoop/detail/9600000065584
ข้อมูลที่สำคัญจากอีกองค์กรหนึ่งก็คือ รายงานของ ป.ป.ท. ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า "มีการทุจริตเกิดขึ้นซ้ำซากจริง" ในกรุงเทพมหานคร ในงานวิจัยชื่อว่า "การศึกษารูปแบบการทุจริต กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร", 2561 ผมได้ดาวน์โหลดเอกสารหนา 200 หน้านี้ จาก http://bit.ly/2Xrfov8
ยังดีที่รายงานนี้เสนอทางแก้ไว้บ้าง ซึ่งหลากหลาย วิธีมากตามที่ได้รวบรวมจากข้อเสนอแนะ และ ความเห็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและเข้าใจดีถึงรูปแบบ การทุจริตของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ใน กทม. จึงทำให้เห็นว่า มีวิธีแก้ไขรอให้ใช้อยู่แล้ว
คำถามที่ว่า "สินบนการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ใครจะแก้ได้? นั้นมีคำตอบว่า ผู้ว่าฯกทม. แก้ได้ ถ้ากล้าที่จะแก้ ทางแก้นั้นมีอยู่เหลืออยู่แค่ว่า ผู้บริหาร กทม. คือผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ฝ่ายโยธา จะเอาจริงเอาจังหรือไม่ กล้าหรือไม่ ที่จะต่อสู้กับระบบที่มีมูลค่าสินบนเป็นรายได้ อันมิชอบของเจ้าหน้าที่ กทม. ปีละ 5,000- 15,000 ล้านบาท จากการก่อสร้างอาคารใหญ่ของภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 560,000 ล้านบาท ในแต่ละปี
หมายเหตุ : มูลค่าก่อสร้างมาจาก รายงานในบทความศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (SCB EIC) โดย ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ และ คุณกณิศ อ่ำสกุล
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน